ซวยสองเด้ง!!

เศรษฐศาสตร์

ซวยสองเด้ง!!

เศรษฐศาสตร์

พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกแน่ๆ ถ้าเป็นจริงดังคำเตือนของนักเศรษฐศาสตร์โลก ที่ต่างออกมาส่งเสียงระงมว่า โลกกำลังเผชิญกับภัยเงียบจากภาวะ “Stagflation” เศรษฐกิจชะงักงัน แต่เงินเฟ้อสูง อันเป็นผลพวงมาจากการอัดฉีดเงินเยียวยาครั้งมโหฬารของภาครัฐทั่วโลก เพื่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการล็อกดาวน์ประเทศ

จริงอยู่ว่าการอัดฉีดเงินเข้าระบบอย่างไม่อั้นของภาครัฐ ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุด แต่ในเวลาเดียวกันก็กระตุ้นให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอัตราการว่างงานที่สูงลิ่ว กลายเป็นสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกไปซะงั้น เพราะปกติหากเงินเฟ้อสูง ค่าครองชีพแพงขึ้น เศรษฐกิจก็ควรจะเติบโตสูง มีการใช้จ่ายกันอย่างคึกคัก แต่นี่กลับชะงักงันไปทั้งระบบเศรษฐกิจ แถมคนตกงานเป็นเบือ ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

อาการมันฟ้องให้เห็นจากพี่เบิ้มอเมริกา ที่ฟื้นตัวจากโควิด– 19 ก่อนใครเพื่อน แต่มาโป๊ะแตกว่าไม่ฟื้นจริง เมื่อตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สะท้อนจากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนสิงหาคม ที่พุ่งขึ้น 8.3% ผนวกกับตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ที่เพิ่มขึ้นเพียง 235,000 ตำแหน่ง จากที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 720,000 ตำแหน่ง แสดงว่าคนยังตกงานล้นประเทศ

นี่มันเดจาวูชัดๆ!! เพราะปรากฏการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอเมริกา และสร้างความปั่นป่วนไปทั้งโลก ในช่วงทศวรรษ 1970 เมื่อตัวเลขเงินเฟ้อสูงถึง 12% ขณะที่อัตราการว่างงานเกือบ 9% อันเป็นผลมาจากวิกฤติราคาน้ำมันดิบโลกทะยานขึ้นกว่า 400% ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อต้นทุนการผลิตในทุกภาคอุตสาหกรรม เป็นครั้งแรกที่ต้องซวยสองเด้ง โลกต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำชะงักงัน พร้อมกับการเกิดภาวะเงินเฟ้อ

ภาวะ “Stagflation” ถือเป็นโจทย์มหาหินที่แก้ยากที่สุด เพราะถ้ามุ่งแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งก็มักก่อให้เกิดอีกปัญหาตามมาแทน จนถึงวันนี้ยังไม่มีสถาบันเศรษฐศาสตร์ไหนสามารถตอบได้ชัดว่าควรใช้นโยบายใดในการแก้ไขภาวะดังกล่าว มีเพียงข้อเสนอแนะว่า ควรดำเนินนโยบายให้ผลผลิตโตไปจนถึงจุดสูงสุดให้ได้โดยไม่เพิ่มอัตราเงินเฟ้อ หรือไม่ก็ดันกำลังซื้อในประเทศผ่านนโยบายการคลังด้านภาษี ควบคู่ไปกับการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

เตรียมตั้งรับกับยุคข้าวยากหมากแพงไว้ได้เลย!! เศรษฐกิจทรุด, ธุรกิจเจ๊ง, กระเป๋าฝืดรายได้หด, งานหายาก แต่ข้าวของราคาแพงขึ้นทุกวัน ก็ได้แต่หวังว่าคำเตือนนี้จะไม่กลายเป็นจริง และเป็นเพียงแค่กระต่ายตื่นตูม หรือร้ายสุดก็อาจเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว พอพ้นจากวิกฤติโควิด-19 ทุกคนได้ฉีดวัคซีนทั่วหน้า และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้แล้ว เศรษฐกิจโลกก็น่าจะกลับสู่ภาวะปกติ…ขอเวลาหายใจหายคอบ้าง.