7 เทคนิคง่าย ๆ ยกระดับคุณภาพชีวิตหมาเดินไม่ได้ขาหลัง

บทความการเลี้ยงสุนัข

เจ้าของสุนัขหลายคนคงรู้สึกปวดใจไม่น้อย หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้สุนัขแสนรักของตัวเองต้องกลายเป็นสุนัขที่มีภาวะอัมพาตสองขาหลัง

ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากอุบัติเหตุ โรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูก หรือแม้กระทั่งมะเร็ง แต่ไม่ต้องกังวลไป หากเรามีการจัดการที่ดี ก็สามารถทำให้สุนัขของเราเป็นสุนัขที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขกับชีวิตที่เหลือได้แน่นอน เรามาดูกันว่าจะมีวิธีดูแลหมาเดินไม่ได้ขาหลังยังไงบ้าง เริ่มเช็คสิ่งที่ต้องจัดการกันเลย

1.หมาเดินไม่ได้ขาหลังต้องสังเกตการขับถ่าย

โดยทั่วไปหมาเดินไม่ได้ขาหลัง อาจจะปัสสาวะได้ปกติ หรืออาจจะปัสสาวะเองไม่ได้ โดยเจ้าของต้องสังเกต หากเห็นสุนัขมีปัสสาวะไหลหยดออกมาเปื้อนสิ่งรองนอนเป็นหยด ๆ ไม่ได้เป็นสายยาว ๆ ในครั้งเดียว นั่นหมายความว่าสุนัขอาจจะไม่สามารถปัสสาวะเองได้ ปัสสาวะที่เห็นนั้นเป็นปัสสาวะที่ขังอัดแน่นอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจนไหลล้นออกมา หากเราปล่อยไว้โดยไม่ได้ช่วยระบายปัสสาวะออก จะทำให้มีเชื้อแบคทีเรียสะสมในกระเพาะปัสสาวะมาก ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น  เกิดการอักเสบติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ ติดเชื้อจากกระเพาะปัสสาวะเข้าสู่กระแสเลือด ท่อไตอักเสบติดเชื้อ กรวยไตอักเสบ หรือไตวาย ตามมาได้ ซึ่งจะสร้างความเจ็บปวด ทรมาน ให้สุนัขเป็นอย่างมาก ดังนั้นหากสุนัขไม่สามารถปัสสาวะเองได้ เราก็ต้องช่วยบีบปัสสาวะให้
2.เทคนิคการกดช่วยปัสสาวะให้สุนัขเดินไม่ได้ขาหลัง

สุนัขขนาดเล็ก – ใช้วิธีการกดมือเดียว

ใช้มือโอบบริเวณท้องน้อย(ช่องท้องที่อยู่ส่วนหน้าของขาหลัง) โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ด้านบน นิ้วที่เหลือวางช้อนท้องอยู่ด้านล่าง มืออีกข้างประคองด้านหลังไว้ จากนั้นค่อย ๆ ออกแรงบีบช่องท้องไปทางด้านท้ายสุนัข จนกระทั่งเริ่มมีปัสสาวะไหลออกมา คงแรงบีบเรื่อย ๆ จนกระเพาะปัสสาวะแฟบ

สุนัขขนาดกลางและขนาดใหญ่ – ใช้วิธีการกดสองมือ

ใช้มือทั้งสองข้างวางแนบบริเวณท้องน้อยทั้งสองฝั่ง ค่อย ๆ ออกแรงกดมือทั้งสองข้างดันไปทางด้านท้าย จนกระทั่งมีปัสสาวะไหลออกมา คงแรงบีบเรื่อย ๆ จนกระเพาะปัสสาวะแฟบ ให้ช่วยกดปัสสาวะวันละ 2-3 ครั้ง ส่วนในเรื่องของการถ่ายอุจจาระ สุนัขที่เป็นอัมพาตสองขาหลังมักจะไม่มีปัญหา โดยจะสังเกตว่าสุนัขจะถ่ายออกมาเป็นก้อนขนาดปกติ อย่างน้อยสองวันครั้ง

บทความการเลี้ยงสุนัข

3.ดูแลความสะอาดและความปลอดภัย

ควรจัดพื้นที่ให้สุนัขอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ อาจจะมีคอกกั้นเพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขเคลื่อนที่ไปในพื้นที่ที่ไม่ต้องการ ใช้สิ่งรองนอนที่ไม่แข็งจนเกินไปก็สามารถช่วยป้องกันการเกิดแผลกดทับได้ เจ้าของควรมาตรวจดูทุก 3-4 ชั่วโมง เพื่อช่วยพลิกตัว ช่วยพาไปขับถ่าย สามารถใส่ผ้าอ้อมให้สุนัขได้แต่พยายามให้ส่วนก้นและอวัยวะเพศแห้งสะอาดอยู่เสมอ ชามน้ำ ชามอาหารก็ควรวางไว้ใกล้ ๆ ตัวสุนัข เพื่อสุนัขจะได้ไม่ต้องขยับตัวไปไกลจนเกินไป โดยที่ต้องจำกัดปริมาณอาหารตามความต้องการของสุนัขด้วย ซึ่งสามารถสังเกตปริมาณอาหารที่ควรให้ได้จากข้างถุงอาหารสัตว์แต่ละชนิด

4.หมาเดินไม่ได้ขาหลังควรให้อาหารแบบไหนดี

สุนัขที่เป็นอัมพาตสองขาหลังควรได้รับอาหารที่มีคุณภาพ มีโภชนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัย และปัญหาสุขภาพของสุนัขแต่ละตัวด้วย เช่น สุนัขเด็กควรได้รับอาหารที่มีโภชนาการสูง เพื่อตอบโจทย์ช่วงการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว สุนัขแก่ควรได้รับอาหารที่มีพลังงานลดลง มีสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อช่วยต่อสู้กับอนุมูลอิสระในร่างกาย ซึ่งการให้อาหารสามารถให้ได้ทั้งแบบเม็ดหรือแบบเปียก โดยอาจจะให้วันละมื้อ หรือแบ่งให้วันละ 2 มื้อก็ได้ ส่วนสุนัขมีปัญหาป่วยเรื้อรังด้วยโรคไตวาย โรคตับ โรคเบาหวาน โรคนิ่ว และอื่น ๆ แนะนำอาหารสูตรเฉพาะที่ใช้ประกอบการรักษาโรคตามคำแนะนำของสัตวแพทย์

นอกจากการให้อาหารตามช่วงวัย และปัญหาสุขภาพแล้ว ควรระวังเรื่องภาวะน้ำหนักเกิน เนื่องจากสุนัขจะมีการเคลื่อนไหวลดลง การใช้พลังงานก็ลดลงตาม จึงทำให้สุนัขอ้วนได้ง่าย ซึ่งหากสุนัขอ้วนเกินไปแล้วสองขาหน้าที่ต้องรับน้ำหนักมากขึ้นอาจเกิดปัญหากระดูกและข้อตามมาได้ โดยการจะสังเกตว่าสุนัขอ้วนหรือไม่ ดูได้ง่าย ๆ จากสัดส่วนร่างกายคือ สุนัขที่เริ่มมีน้ำหนักเกินจะมองไม่เห็นซี่โครง เมื่อคลำดูซี่โครงจะคลำพบได้ยากเนื่องจากมีไขมันปกคลุมอยู่ และเมื่อมองจากด้านบนจะไม่เห็นเอวสุนัขคอดลง หากพบแบบนี้แล้วแนะนำให้พาสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพและขอคำแนะนำในการลดน้ำหนักต่อไป ส่วนน้ำควรให้เพียงพอในปริมาณ 40-60 มิลลิลิตร/กิโลกรัม/วัน

5.ช่วยเหลือการเคลื่อนไหวหมาเดินไม่ได้ขาหลังง่าย ๆ แค่ใช้ผ้าขนหนู

ผ้าขนหนูเป็นตัวช่วยที่ดีในการช่วยพยุงสุนัขในช่วงแรก ๆ ที่สุนัขไม่สามารถใช้ขาหน้าพยุงรับน้ำหนักได้ โดยแค่ใช้ผ้าขนหนู 1 ผืน สอดใต้รักแร้สองข้าง อีก 1 ผืน สอดใต้ช่องท้องส่วนหน้าของขาหลังทั้งสองข้าง แล้วช่วยพยุงสุนัขให้ยืนทรงตัวและหัดเดิน จนกระทั่งสุนัขสามารถใช้ขาหน้ารับน้ำหนักได้ดีแล้วก็สามารถเปลี่ยนไปใช้วิลแชร์เพื่อช่วยเดินได้เลย

โดยสามารถให้สุนัขขึ้นวีลแชร์ได้วันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 15-30 นาที เมื่อเจ้าตูบได้กลับมาเดินเล่นด้วยตัวเองอีกครั้ง แน่นอนว่ามันจะต้องแฮปปี้มาก ๆ เลยหล่ะ

6.กายภาพบำบัดหมาเดินไม่ได้ขาหลังช่วยป้องกันแผลกดทับ

บางคนสงสัยว่าสุนัขไม่มีความรู้สึกที่ขาหลังแล้ว จะต้องทำกายภาพด้วยเหรอ? แน่นอนว่าการทำกายภาพไม่ได้ช่วยให้ขามีความรู้สึกขึ้นมาได้ แต่มันจะช่วยป้องกันกล้ามเนื้อไม่ให้ฝ่อลีบ ซึ่งการที่กล้ามเนื้อฝ่อ ลีบ จะมีโอกาสเกิดแผลกดทับได้ง่ายนั่นเอง

วิธีการทำกายภาพบำบัดจะคล้ายกันกับวิธีกายภาพบำบัดสุนัขขาอ่อนแรง แนะนำให้ทำการยืดหดขาหลังตั้งแต่ข้อเท้า ข้อเข่า และข้อสะโพก ครั้งละ 15 นาที อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

7.เทคนิคเลือกที่นอนสุนัขให้นอนสบาย ป้องกันแผลกดทับ

เนื่องจากสุนัขที่เป็นอัมพาตสองขาหลัง จำเป็นที่จะต้องนอนในท่าเดิมเป็นเวลานาน ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดแผลกดทับตามบริเวณปุ่มกระดูก เช่น ข้อศอก สะโพก หัวเข่า ตามมาได้ อีกทั้งมีโอกาสเกิดความอับชื้นจากการขับถ่ายได้ง่าย ดังนั้นเพื่อสุขอนามัยที่ดีของสุนัข ควรเลือกที่นอนที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย เช่น ที่นอนที่สามารถซักได้ทั้งชิ้น หรือสามารถถอดชิ้นส่วนออกมาซักได้

สุนัขขนาดเล็ก – เหมาะกับที่นอนที่มีลักษณะเป็นเตียงหรือโซฟา หรือที่เรียกว่าประเภท cuddler ที่แปลว่าโอบกอด จะมีลักษณะที่มีผนังขึ้นมารอบด้าน ให้ความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย มีทั้งรูปร่างสี่เหลี่ยมและวงกลมให้เลือก โดยเลือกให้มีขนาดที่พอดีกับตัวสุนัข เผื่อให้เวลานอนเหยียดสามารถเหยียดตัวได้สบาย ที่นอนลักษณะนี้จะสามารถนำไปซักได้ทั้งชิ้น สะดวกในการดูแลรักษาความสะอาด

สุนัขขนาดกลางและขนาดใหญ่ – เหมาะกับที่นอนที่มีลักษณะเป็นเบาะ อาจเลือกเบาะที่ผลิตมาจากโฟมชนิดหนาพิเศษ จะช่วยลดแรงกดทับ รองรับสรีระและน้ำหนักตัวของสุนัขได้ดีกว่าที่นอนแบบอื่น ๆ ไม่ทำให้สุนัขรู้สึกเจ็บปวดตามปุ่มกระดูก มีปลอกผ้าที่สามารถถอดเพื่อนำไปซักได้ ก็จะสามารถช่วยลดการสะสมฝุ่นและสิ่งสกปรกได้

นอกจากการดูแลเบื้องต้นที่เจ้าของอย่างเราจะสามารถทำให้ได้แล้ว สุนัขที่เป็นอัมพาตสองขาหลังก็เหมือนสุนัขปกติที่เราจะต้องพาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจเลือดเช็คสุขภาพเป็นประจำอย่างน้อยทุก 6 เดือน มีการฉีดวัคซีนตามปกติทุกปี และถ่ายพยาธิทุก 3 – 6 เดือน ป้องกัน กำจัดเห็บหมัดอยู่สม่ำเสมอ