อุตสาหกรรมยาสูบกำลังพุ่งเป้าทำการค้ากับเด็กเยาวชน ออกแบบบุหรี่ไฟฟ้าใกล้เคียงเครื่องเขียน

ข่าวเด็กใหม่

หลายภาคส่วนร่วมกันถกคิด กรณี บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายต่อเด็กและเยาวชน ปัจจุบันมีการทำการตลาดในอุตสาหกรรมยาสูบพุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนโดยตรง เห็นได้ชัดคือการออกแบบให้เหมือนอุปกรณ์เครื่องเขียนและกลิ่นหอม เข้าถึงกลุ่มเด็กเยาวชนง่ายขึ้น

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวภายในงานเสวนาวิชาการ กัญชาเสรีแล้ว บุหรี่ไฟฟ้าควรถูกกฎหมายได้หรือยัง ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพเด็กและเยาวชนอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนผสมของนิโคตินเช่นเดียวกับบุหรี่ซองและมีผลต่อระบบสมอง ส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกายที่อยู่ระหว่างการเจริญเติบโตเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนสาเหตุของการเกิดกระแสนิยมบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนในไทย มีผลมาจากการทำการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบที่พุ่งเป้าไปยังเด็กและเยาวชน ออกแบบบุหรี่ไฟฟ้าให้มีความทันสมัย ภาพลักษณ์บุหรี่ไฟฟ้าเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน กลิ่นหอม และทำให้การตรวจจับทำได้ยากลำบาก เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีความใกล้เคียงกับเครื่องเขียนของนักเรียน นักศึกษา ขณะเดียวกันครู ผู้ปกครอง ขาดความเข้าใจเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกต้อง

ข่าวเด็กใหม่

“หากวันนี้เราเข้าไปยังสถานที่รวมกลุ่มของเด็กและเยาวชน เช่น สนามฟุตบอล เราจะเห็นเลยว่าเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยห้อยบุหรี่ไฟฟ้าที่คอลงมาเล่นฟุตบอลในสนามกันหมดแล้ว” นายพชรพรรษ์ กล่าว

นายศิรชัช หาญวิวัฒนกูล ผู้แทนนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงงานวิจัยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลให้ดีเอ็นเอของเซลล์ในช่องปากถูกทำลาย ซึ่งก็ไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ธรรมดา และเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคต่างๆ รวมถึงโรคมะเร็งด้วย โดยคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าพบดีเอ็นเอของเซลล์เยื่อบุช่องปากถูกทำลายเป็น 2.6 เท่า ส่วนคนที่สูบบุหรี่ธรรมดาพบดีเอ็นเอถูกทำลายเป็น 2.2 เท่าเมื่อเทียบกันคนที่ไม่มีประวัติสูบบุหรี่

ขณะเดียวกันในบุหรี่ไฟฟ้า ยังพบโพรไพลีนไกลคอล เป็นส่วนประกอบทำให้เกิดไอระเหย กลีเซอรีน เป็นสารเพิ่มความชื้นที่จะผสมกับสารโพรไพลีนไกลคอล แม้องค์การอาหารและยา (FDA) สหรัฐอเมริกา จะยืนยันถึงความปลอดภัยว่าใช้ได้ทั้งในอาหารและยา แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันถึงความปลอดภัยว่า เมื่อกลายสภาพเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย จึงไม่สามารถสรุปได้ว่ามีความปลอดภัยต่อประชาชนจริงหรือไม่ เป็นที่มาว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอไว้ซึ่งมาตรการควบคุมไม่ให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย

ในฐานะนักศึกษาแพทย์ยังเชื่อว่าการเลิกสูบบุหรี่ ด้วยการเข้าระบบการรักษาเป็นคำตอบที่ถูกต้องมากกว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่ เพราะว่าจริยธรรมของแพทย์ก็ไม่สามารถแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าอันตรายเป็นเครื่องมือในการรักษาสุขภาพได้” นายศิรชัช กล่าว

ทั้งนี้ในงานเสวนายังมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าร่วมด้วย ข่าวเด็กอัพเดต>>> เด็กปัญญาเลิศ (Gifted Child) : ดูตรงไหนว่าลูกเรามีขีดความสามารถสูงพิเศษ